fb


   


วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

สมใจนึกจิ้งหรีดฟาร์ม : มาปลูกฟักทองปลอดสารพิษเพื่อเลี้ยงจิ้งหรีด

สำหรับบ้านเราพบว่าฟักทองที่ปลูกเพื่อการบริโภคนั้น ลักษณะของพันธุ์จะมีเปลือกสีเขียวคล้ำร่องผลเป็นพูสม่ำเสมอหรือเปลือกขรุขระแบบหนังคางคก ผลที่แก่จัดขึ้นนวลสีขาวตั้งแต่ขั้วไปทั้งผลและนิยมปลูกพันธุ์ผลใหญ่มีน้ำหนักมากกว่า 4 – 5 กิโลกรัมหรือผลเกมีน้ำหนักผลระหว่าง 2 - 3 กิโลกรัมในปัจจุบันพันธุ์ฟักทองทางการค้าที่เกษตรกรไทยนิยมปลูกจะใช้พันธุ์ลูกผสมเนื่องจากให้ผลผลิตสูงและมีเปลือกแบบหนังคางคกหรือลายข้าวตอก

++ ลักษณะทางพฤกษาศาสตร์ของฟักทอง ++ ฟักทองจัดเป็นพืชที่ผสมข้ามตามธรรมชาติโดยอาศัยลมและแมลง ดอกแยกเพศผู้และเพศเมียตามธรรมชาติ เป็นพืชล้มลุกปีเดียว ลำต้นเป็นแถวเลื้อยยาว 3 – 6 เมตร ที่ข้อปลายหนวดแยก 3 – 4 แฉก ลำต้นอ่อนมักเป็น 5 เหลี่ยมหรือกลม ใบมีขนคายมืออยู่ทั่วไป เนื้อใบจะนิ่ม มีรูปร่าง 5 – 7 เหลี่ยมหรือรูปร่างเกือบกลม ริมใบมีหยักเว้าลึก 5 – 7 หยัก ส่วนของใบมีความกว้าง 10 – 20 เซนติเมตร ความยาวของใบ 15 – 30 เซนติเมตร ลักษณะของผลมีรูปร่างและขนาดแตกต่างกันตามสายพันธุ์ ซึ่งจะมีรูปร่างตั้งแต่กลมไปจนถึงค่อนข้างแบน ผิวผลมักเป็นตุ่มนูนและหยักเป็นร่อง เนื้อในผลมีสีเหลืองจนถึงสีเหลืองอมส้ม
  การช่วยผสมเกสรฟักทอง ++ จากที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่าฟักทองเป็นพืชผักที่ดอกแยกเพศคือเพศเมียและเพศผู้อยู่ภายในต้นเดียวกัน ดอกเพศเมียจะเป็นดอกเดี่ยวที่เกิดบริเวณมุมใบ มีกลีบเลี้ยงสีเขียว กลีบดอกมีสีเหลือง 5 กลีบ รังไข่มีลักษณะกลมยาว 2 – 5 เซนติเมตร มีลักษณะเหมือนผลฟักทองขนาดเล็ก ส่วนของยอดเกสรเพศเมียมี 2 – 5 แฉก การเจริญเติบโตในระยะแรกการแสดงดอกของฟักทองจะแสดงดอกเพศผู้ ส่วนดอกเพศเมียจะมีตั้งแต่ข้อที่ 12 – 15 ดอกที่เกิดปลายเถาและเถาแขนงมักเป็นดอกเพศเมีย สำหรับเกษตรกรที่ปลูกฟักทองในเชิงพาณิชย์,ปลูกเพื่อเป็นรายได้เสริมหรือปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือนมีความจำเป็น จะต้องผสมเกสรและมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องดอกของฟักทอง

** ดอกเพศเมียและเพศผู้จะบานในตอนเช้าจะบานในช่วงเวลา 3.30 – 6.00 น. อับเรณูจะแตกระหว่างเวลา 21.00 – 3.00 น. ละอองเรณูจะมีชีวิตอยู่ได้ 16 ชั่วโมง หลังอับเรณูแตกยอดเกสรเพศเมียพร้อมรับการผสมเกสรก่อนดอกบาน 2 ชั่วโมง และหลังดอกบาน 10 ชั่วโมง ดังนั้นช่วงเวลาที่มีความเหมาะสมในการผสมเกสร คือตั้งแต่เวลา 6.00 – 9.00 น. 

++ สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกฟักทอง ++ต้นฟักทองจะเจริญเติบโตได้ผลดีที่อุณหภูมิระหว่าง 18 – 27 องศาเซลเซียส จัดเป็นพืชผักที่ไม่ทนต่อความหนาวเย็นจัด อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกของเมล็ดเฉลี่ยอยู่ที่ 25 – 30 องศาเซลเซียส พบว่าต้นฟักทองจะชะงักการเติบโตในสภาพอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส สภาพแวดล้อมมีอิทธิพลต่อการแสดงเพศของดอก สรุปได้ว่าถ้าอุณหภูมิ ต่ำและช่วงแสงวันสั้นที่มีช่วงแสงน้อยกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน ( เช่น ฤดูหนาว )มีอิทธิพลทำให้ดอกเพศเมียแสดงได้เร็วและมีจำนวนมาก แต่ถ้าสภาพอุณหภูมิสูงและช่วงแสงวันยาวคือมีช่วงแสงมากกว่า 12 ชั่วโมง ( เช่น ฤดูร้อนและฤดูฝน) มีอิทธิพลทำให้ดอกเพศผู้จำนวนมากและดอกเพศเมียน้อย

**ดังนั้นการปลูกฟักทองในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนคือปลูกระหว่างเดือนมีนาคม – มิถุนายน ( กลางวันยาวกว่ากลางคืน ) จะพบดอกเพศผู้เป็นจำนวนมาก ดอกเพศเมียน้อยมีผลทำให้การติดผลต่ำกว่าการปลูกฟักทองปลายฤดูฝนถึงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนสิงหาคม – ธันวาคม มักพบว่าการแสดงของดอกเพศเมียเกิดเร็ว ในบริเวณข้อที่ตำกว่าข้อที่ 10 และมีดอกเพศเมียดก มีผลทำให้การติดผลดีและให้ผลผลิตสูง
++ การปลูกฟักทอง ++ 

สภาพพื้นที่และฤดูที่เหมาะสม : ต่อการปลูกฟักทองฟักทองจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินที่มีค่า pH = 5.5 – 6.8 จัดเป็นพืชผักที่ทนดินสภาพกรดได้ระดับปานกลาง และสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำดี โดยปกติแล้วฤดูกาลผลิตฟักทองที่เหมาะสมจะปลูกในช่วงเดือนกรกฎาคม – มกราคม จะปลูกหลังจากที่ต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ดมีใบจริงจำนวน 1 ใบ หรือเมื่ออายุต้นกล้ามีอายุได้ 9 – 12 วัน ให้ทำการย้ายปลูก ถ้ามีแหล่น้ำที่ดีหรือปลูกในช่วงฤดูฝน อาจจะปลูกโดยการหยอดเมล็ดได้โดยตรง ต้นฟักทองจะเริ่มออกดอกหลังจากย้ายปลูกไปประมาณ 40 – 50 วัน มีช่วงเวลาในการผสมเกสร 10 – 15 วัน หลังจากผสมเกสร 40 – 50 วันจึงเริ่มเก็บเกี่ยวผลแก่และมีช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยว 15 – 20 วัน ใช้เวลาตลอดฤดูกาลผลิตฟักทองในแต่ละรุ่น 100 – 120 วัน

การเตรียมเมล็ดพันธุ์ : ปลูกฟักทองในเนื้อที่ 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 100 – 150 กรัม ในการปลูกฟักทองในพื้นที่ 1 ไร่ จะใช้เมล็ดพันธุ์จำนวน 500 – 600 เมล็ด หรือเมื่อชั่งเป็นน้ำหนักประมาณ 100 – 150 กรัม ในการเพาะเมล็ดเพื่อปลูกในแต่ละรุ่นนั้น เกษตรกรจะต้องเพาะต้นกล้า เผื่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเพาะกล้าหรือหลังย้ายกล้าปลูกได้อย่างน้อย 20 – 30 %

การเพาะเมล็ด : วัสดุที่ใช้ในการเพาะเมล็ดฟักทองนั้นแนะนำให้ใช้ส่วนผสมของ ดิน : ปุ๋ยหมัก : ขุยมะพร้าว = 1 : 1 : 1 โดยดินและปุ๋ยหมักเป็นแหล่งธาตุอาหารต่างๆ สำหรับการเจริญเติบโตของพืช ส่วนขุยมะพร้าวจะทำให้ก้อนวัสดุเพาะรวมตัวกันเป็นก้อนไม่แตกในขณะที่ย้ายปลูก เมล็ดฟักทองที่จะนำมาเพาะควรทำการบ่มด้วยการนำเมล็ดพันธุ์ใส่ถุงพลาสติกที่เจาะรูให้น้ำเข้าได้ นำไปแช่ในน้ำที่สะอาดนาน 4 ชั่วโมงน้ำจะช่วยให้เมล็ดฟักทองเริ่มงอก นำถุงที่บรรจุเมล็ดพันธุ์ที่อวบน้ำมาห่อด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆ แล้วบรรจุลงในถุงพลาสติกรัดปากถุงให้แน่น ทำการบ่มในสภาพอุณหภูมิปกตินาน 12 – 24 ชั่วโมง จะพบว่ารากเริ่มงอกยาว 0.5 เซนติเมตร จึงนำไปเพาะต่อไป สำหรับการบ่มเมล็ดฟักทองในช่วงฤดูหนาวควรจะให้ความอบอุ่นแก่เมล็ดพันธุ์โดยการบ่มในกล่องกระดาษที่ใช้หลอดไฟฟ้า อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกของเมล็ดพันธุ์อยู่ระหว่าง 25 – 30 องศาเซลเซียส

ในการหยอดเมล็ดพันธุ์ในถุงชำดำให้ฝังเมล็ดไปในทิศทางของการงอกของราก ปลูกให้เมล็ดพันธุ์มีความลึกอย่างน้อย 2 เท่าของความยาวเมล็ดพันธุ์กลบเมล็ดพันธุ์ด้วยวัสดุเพาะต้นกล้าและรดน้ำให้ชุ่ม ในเวลาประมาณ 5 วันหลังจากยอดเมล็ดพันธุ์ลงถุงเมล็ดพันธุ์จะงอกและต้นกล้าจะโผล่พ้นดินเกษตรกรจะต้องให้น้ำต้นทุกวันวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น จากนั้นงดการให้น้ำก่อนปลูก 3 วัน โดยให้น้ำต้นกล้าเพียง 1 ครั้งในตอนเช้าก่อนปลูกเพื่อให้ระบบรากเริ่มปรับตัวต่อการทนการขาดน้ำเมื่อมีการย้ายปลูก เกษตรกรควรปลูกต้นฟักทองระหว่างเวลา 14.00 – 18.00 น. หลังจากที่ย้ายปลูกไปได้ 5 – 7 วัน ให้ทำการปลูกซ่อมแซมต้นกล้าที่ตายไปหรือต้นที่มีการตั้งตัวไม่แข็งแรง
การเตรียมพื้นที่ปลูกฟักทองแบบปลอดภัย : ในการเตรียมพื้นที่ปลูกฟักทองเกษตรกรจะต้องทราบสภาพความเป็นกรด – ด่างของดิน เมื่อสำรวจพบว่าดินมีค่าความเป็นกรดสูงหรือมีค่า pH ต่ำกว่า 5.5 จะต้องใส่ปูนขาว, หินปูนหรือปูนโดโลไมท์ อัตรา 100 – 200 กิโลกรัมต่อไร่(การใส่ปูนขาวควรใส่ก่อนที่จะลงมือปลุกอย่างน้อย 1 อาทิตย์) หลังจากนั้นให้ไถพรวนผสมคลุกเคล้าให้ปูนผสมกับดินและตากดินทิ้งไว้ ในการเตรียมดินเพื่อปลูกฟักทองในแต่ละรุ่นจะต้องเริ่มต้นจาการไถพรวนตากดินให้มีความลึกอย่างน้อย 30 เซนติเมตร ปล่อยทิ้งไว้อย่างน้อยครึ่งเดือนเพื่อให้วัชพืชตาย

** นอกจากนี้การใช้ปุ๋ยหมักเพื่อการปรับปรุงดินเพื่อเพิ่มผลผลิตของฟักทอง การใช้ปุ๋ยหมักอย่างต่อเนื่องจะมีผลดีต่อการปรับปรุงคุณภาพของดิน อัตราการใช้ปุ๋ยหมักขึ้นอยู่กับประเภทของดินที่ใช้ปลูกฟักทอง สำหรับดินทรายหรือดินร่วนปนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก อัตราการใส่ปุ๋ยหมักจะสูง ส่วนดินเหนียวในภาคกลางหรือดินร่วนปนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางทางภาคเหนือ จะใช้อัตราปุ๋ยหมักที่ต่ำกว่า ดังนั้นในขณะที่เตรียมพื้นที่ปลูกฟักทอง อัตราการปุ๋ยหมักในแปลงจะใช้อัตราปุ๋ยหมักเฉลี่ย 1 – 3 ตันต่อไร่ หว่านให้กระจายทั่วแปลงปลูกแล้วคลุกเคล้ากับดินหรือไถกลบเป็นแถวลงไปในดิน 

ระยะปลูกฟักทองที่เหมาะสม : ควรจะใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 1 เมตร ระยะระหว่างแถว 4 เมตร พื้นที่ 1 ไร่จะปลูกได้ 400 ต้นต่อไร่ ในการเตรียมพื้นที่ด้วยการปักหลักไม้ทุกระยะ 1เมตร และ 4 เมตร ไปตามแนวของพื้นที่ปลูก ทำการเปิดร่องใส่ปุ๋ยตามแนวหลักไม้ที่ปักไว้ เปิดร่องให้ลึก 30 เซนติเมตร จากนั้นใส่ปุ๋ยหมักรองพื้นอัตรา 2 ตันต่อ 1 ไร่และใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น 16 – 16 – 16 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ จากนั้นทำการเปิดร่องน้ำและกลบปุ๋ยรองพื้นได้แปลงที่มีความกว้าง 4.5 เมตรร่องน้ำกว้าง 50 เซนติเมตร ปลูกต้นฟักทองให้ห่างจากขอบแปลง 25 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้น 1.5 เมตร ระยะระหว่างแถว 4 เมตร ปลูก 2 แถว เลื้อยเข้าหากันจำนวน 1 ต้นต่อหลุมยกแปลงให้สูง 30 เซนติเมตร เพื่อให้การระบายน้ำได้ผลดี ทำการคลุมพลาสติกกว้าง 1.5 เมตรหรือใช้ฟางข้างเป็นแถวยาวในแนวที่ย้ายปลูกเพื่อป้องกันการงอกของวัชพืชในระยะที่เถายาว 1.5 เมตร

การใส่ปุ๋ยแต่งหน้าและการกำจัดวัชพืช : หลังจากที่ย้ายต้นฟักทองลงปลูกในแปลง10 หรือ 20 วัน แนะนำให้ใส่ปุ๋ยแต่งหน้าโดยใช้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น 16 – 16 – 16 ในอัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ต่อครั้ง ในการใส่ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งที่ 1 ใส่โดยพรวนดินรอบโคนต้นและกลบปุ๋ย การใส่ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งที่ 2 ใส่โดยการไถพรวนเปิดร่องในแนวปลูกด้านในทั้งสองด้านทำการไถให้ห่างจากโคนต้น 20 เซนติเมตร จากนั้นใส่ปุ๋ยแต่งหน้าไปตามร่องแล้วกลบร่องใส่ปุ๋ย ทำการกำจัดวัชพืชพร้อมการจัดเถาให้เข้าสู่กลางแปลงโดยเลื้อยเข้าหากัน
การเตรียมพื้นที่ปลูกฟักทอง : ฟักทองเป็นพืชที่มีลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้น เช่นเดียวกับแตงโม เป็นไม้เถาอ่อน มีขนสากมือ มีหนวด สำหรับเกี่ยวพันทอดไปตามพื้นดินจึงต้องการเนื้อที่ปลูกมากกว่าพืชผักอื่นๆเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ มีอายุปีเดียว (ฤดูเดียว)เมื่อให้ผลแล้วก็ตายไป ฟักทองจัดเป็นพืชที่มีรากลึก การเตรียมการปลูกจึงต้องไถดินให้ลึกประมาณ 25 – 30 เซนติเมตร ตากดินไว้ 5 – 7 วัน ในการเตรียมแปลงปลูกควรมีการตรวจวัดความเป็นกรด – ด่างของดินให้มีค่า pH 6.0 – 6.8 หากดินมีสภาพเป็นกรดควรปรับสภาพโดยใช้ปูนขาวหรือโดโลไมท์ ใส่ระหว่างการเตรียมแปลงปลูก การใช้โดโลไมท์ในการปรับปรุงสภาพดินจะช่วยลดการเกิดโรครากเน่าโคนเน่าได้ในระดับหนึ่ง ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วโดยพิจารณาการใส่ตามความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทั้งนี้หากเกษตรกรนำดินส่งวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในดินสามารถที่จะทราบปริมาณธาตุอาหารและอินทรีย์วัตถุในดินและควรจะเพิ่มเติมเท่าไรเพื่อให้ฟักทองเจริญเติบโตได้ดี

หลักการเลือกรูปแบบการปลูกฟักทอง : การเลือกเตรียมแปลงปลูกฟักทองสามารถเลือกปลุกได้หลายรูปแบบ ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมของงพื้นที่ปลูกเป็นส่วนสำคัญมาก วิธีแรก หากมีพื้นที่ปลูกเพียงเล็กน้อย สามารถปลูกระยะ 1.5X1.5 เมตร วิธีนี้เมื่อฟักทองโตขึ้นจะทำให้ลำบากต่อการจัดการ เนื่องจากเถาจะกระจายเต็มพื้นที่ แต่มีข้อดีคือจะได้ผลผลิตต่อพื้นที่มากขึ้น วิธีที่สอง การปลูกแถวเดี่ยวทำแปลงแถวเดี่ยวความกว้างของแปลง 1.8 – 2 เมตร ระยะปลูกระหว่างต้น 1.5 เมตร เมื่อปลูกฟักทองสามารถจัดเถาฟักทองให้เลื้อยไปในแนวแปลงปลูกทำให้ง่ายกว่าการจัดการมากกว่าวิธีแรก วิธีที่สาม การปลูกแบบแถวคู่ ยกร่องแปลงเป็นสองด้านระยะ 3.5 – 5 เมตร ระยะห่างระหว่างต้น 1.5 เมตร เช่นเดียวกับวิธีที่หนึ่งและสอง วิธีนี้สามารถจัดเถาฟักทองให้เลื้อยจรดกันสองด้านพอดี และมีร่องทางเดินทำให้ทำงานได้สะดวกมากขึ้น
การปลูกโดยหยอดเมล็ดโดยตรงหรือเพาะกล้าพิจารณาจากต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ : การเลือกเมล็ดพันธุ์ฟักทองที่ใช้ปลูกกันโดยทั่วไปมี 2 แบบ คือ เมล็ดพันธุ์แบบผสมเปิด ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ที่สามารถเก็บไว้ขยายพันธุ์ต่อได้เอง ปัจจุบันเมล็ดพันธุ์แบบผสมเปิดหาได้น้อยมาก เนื่องจากเมล็ดเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรซื้อมาปลูกจะเลือกผลิตเมล็ดพันธุ์แบบลูกผสม มีลักษณะเด่นในการให้ผลผลิตสูง ขนาดของต้น ผลและการเจริญเติบโตดี แต่มีข้อเสียที่ไม่สามารถนำเมล็ดไปปลูกต่อได้ และเกษตรต้องเสียค่าใช้จ่ายกับเมล็ดพันธุ์ฟักทองในราคาแพงมาก ดังนั้นการพิจารณาถึงวิธีการปลูกเพื่อลดต้นทุนในส่วนนี้ โดยมีวิธีการเลือกปลูกได้ 2 แบบ ได้แก่

1. การปลูกแบบหยอดเมล็ด ก่อนปลูกขุดหลุมปลูก รองก้นด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว หยอดเมล็ด 3 – 5 เมล็ด กลบด้วยดินผสมละเอียดหรือปุ๋ยคอกก็ได้ ลึก 2.5 – 5 เซนติเมตร คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง รดน้ำให้ชุ่มประมาณ 3- 5 วันต้นกล้าจะงอกพ้นจากดิน เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 2 – 3 ใบ ควรทำการถอนเอาต้นที่อ่อนแอทิ้ง เหลือต้นที่สมบูรณ์ที่สุดไว้ 1 ต้น/หลุม

2. การปลูกโดยการเพาะกล้านำเมล็ดฟักทองห่อผ้าขาวบาง จุ่มน้ำไหล 15 – 30 นาทีนำเมล็ดไปบ่มไว้ในกล่องพลาสติกใส 3 – 5 วัน เมล็ดจะแตกรากออกมาเล็กน้อย นำไหเพาะในถาดเพาะกล้าที่ใส่วัสดุเพาะกล้า (เช่น มีเดีย) รดน้ำ 10 – 13 วันหรือฟักทองมีใบจริง 1 – 2 ใบจึงย้ายปลูก


การให้ปุ๋ยฟักทอง : ก่อนทำการการหยอดเมล็ดหรือนำกล้าลงปลูกควรหยอดปุ๋ยสูตร 19 -19 – 19 อัตรา 5 กรัม / หลุม หยอดสารป้องกันแมลงจากการทดลองของแผนกฟาร์มชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรโดย ใช้สตาร์เกิลจีหยอดก้นหลุมอัตรา 2 กรัม / หลุม พบว่าระยะต้นกล้าของฟักทอง คือช่วงที่ต้นสูงระหว่าง 20 – 30 เซนติเมตรฟักทองไม่ถูกทำลายจากแมลงปากดูด และสามารถกำจัดด้วงเต่าแตงที่มาทำลายใบได้ดีมาก

นอกจากนี้ยังได้ให้ปุ๋ยต้นฟักทองในระยะกล้าที่มีใบจริง 3 – 4 ใบ โดยการนำปุ๋ยเคมีสูตร 46 – 0 – 0 อัตรา 800 กรัม+แคลเซียมไนเตรท อัตรา 100 กรัม+ ไฮมิค อัตรา 300 ซีซี+ป้องกันกำจัดเชื้อรา เมทาแลกซิล อัตรา 300 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร ราดโคนต้น อัตรา 300 ซีซี / ต้น จะช่วยให้ต้นฟักทองในระยะกล้าแข็งแรงต้นกล้าที่ใบเหลืองไม่สมบูรณ์ฟื้นต้นได้ดีขึ้น

การให้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายปุ๋ยได้ หัวใจสำคัญของการเจริญเติบโตของฟักทองคือการให้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยวิธีการให้น้อยๆแต่บ่อยครั้ง เนื่องจากการให้ปุ๋ยเกินความต้องการของฟักทองจะทำให้ปุ๋ยที่นำไปใช้เพียงเล็กน้อย ส่วนที่เหลือจะระเหยไปกับอากาศและไหลไปไกลกว่าระดับรากของฟักทอง ดังนั้นการให้ปุ๋ยเหมาะสมกับช่วงของการเจริญเติบโตจะช่วยให้ฟักทองเจริญเติบโตได้ดีขึ้น การให้ปุ๋ยควรหยอดปุ๋ยสูตรเสมอรองก้นก่อนปลูก เช่น 19-19-19อัตรา 5 กรัม/ หลุม เพื่อให้เพิ่มปริมาณธาตุอาหารแก่ฟักทองในระยะกล้า เมื่ออายุ 10 – 14 วัน ใส่ปุ๋ยตัวหน้าสูง เช่น 46-0-0 , 15-0- –0 อัตรา 10-15 กิโลกรัม / ไร่ เมื่อฟักทองอายุได้ 20-25 และ 30วัน ควรให้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 โดยแบ่งใส่ 2 ครั้งๆละ 25-35 กิโลกรัม / ไร่

เทคนิคการช่วยผสมเกสร : ฟักทองจะมีดอกสีเหลืองทั้งตัวผู้และตัวเมียจะแยกกัน แต่อยู่ในต้นเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องการช่วยผสมเกสรโดยวิธีธรรมชาติ เช่น ลมพัดหรือแมลงช่วยผสมเกสร หรือให้ผู้ปลูกช่วยผสมเกสรเพื่อการติดผลที่ดี เมื่อดอกฟักทองกำลังบานให้เลือกดอกตัวผู้ เด็ดมาแล้วปลิดกลีบดอกออกให้หมด นำไปเคาะละอองเกสรตัวผู้ให้ตกลงบนดอกตัวเมีย ถ้าติดผลก็จะให้ผลอ่อน ถ้าไม่ติดผลดอกตัวเมียจะฝ่อไป ดอกฟักทองจะบานแค่ 1วัน ในช่วงเช้ามืด เมื่อถึงเวลา 9.00 น.เป็นต้นไปก็เริ่มหุบหากจะผสมเกสรควรเริ่มผสมในช่วงเช้าๆเพราะเมื่อบ่ายดอกฟักทองจะเริ่มเหี่ยวแล้วจะเฉาตายในวันรุ่งขึ้นดอกก็จะเฉาตายไป

การให้น้ำฟักทอง : ฟักทองเป็นพืชที่มีระบบรากลึก การให้น้ำจึงต้องให้น้ำซึมลงใต้ดินประมาณ 25 – 40 เซนติเมตร แต่ไม่ควรให้แปลงแฉะ จะทำให้เกิดรากเน่าโคนเน่าได้ การเลือกรูปแบบการให้น้ำแก่ฟักทองควรพิจารณาถึงสภาพพื้นที่ หากพื้นที่ปลูกฟักทองอยู่ใกล้ระบบชลประทานหรือมีคลองส่งน้ำที่ดี สามารถเลือกการให้น้ำแบบปล่อยเข้าร่องแปลง พื้นที่ที่มีน้ำเป็นคลองหรือสระน้ำที่มีน้ำจำกัดสามารถให้น้ำแบบสายยางรด หรือให้น้ำแบบน้ำหยด (เป็นวิธีที่มีการทำแปลงด้วยพลาสติกคลุมแปลง)แต่การให้น้ำแบบพ่นฝอยเป็นวิธีที่ควรหลีกเลี่ยงเนื่องจากการให้น้ำแบบพ่นฝอยทำให้ฟักทองเกิดโรคทางใบได้เร็วมากขึ้น
โรคและแมลงศัตรูที่ทำความเสียหายแก่ฟักทอง : ปัญหาของการเกิดโรคในฟักทองเป็นสิ่งที่ไม่สร้างความลำบากใจให้เกษตรกรมากนัก หากมีการจัดการระบบการปลูกที่ดี โรคต่างๆก็ไม่สามารถทำความเสียหายได้ เช่น การเตรียมดินการปลูกที่ดีจะช่วยป้องกันการเกิดโรครากเน่า – โคนเน่าได้ โดยการใช้โดโลไมท์โรยในแปลงระหว่างการเตรียมแปลงใช้ปุ๋ยคอก - ปุ๋ยหมักเพื่อปรับสภาพดินให้ร่วนซุยเพื่อให้รากทำงานได้ดีขึ้น ไม่ควรปลูกพืชตระกูลแตงซ้ำที่แปลงปลูกฟักทอง หรือปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อปรับสภาพดินสลับการปลูกฟักทองหรือพืชตระกูลแตง การเกิดโรคทางใบได้แก่ โรคราน้ำค้าง ที่มักระบาดในช่วงฤดูฝน หรือการให้น้ำแบบพ่นฝอย วิธีแก้ไขโดยการตัดต้นที่เป็นโรคเผาทำลายไม่ให้น้ำแบบพ่นฝอยใช้สารป้องกันโรคพืช เช่น แอนทราโคล ปริมาณ 40 กรัม / น้ำ 20 ลิตร โรคราแป้ง มักระบาดรุนแรง เมื่อสภาพอากาศเย็น ใบพืชแห้งในเวลากลางคืน นอกจากนี้แมลงศัตรูฟักทอง นั้นมีไม่มากนักเพราะใบและก้านที่มีขนช่วยในการป้องกันภัยจากแมลงได้ดี

แมลงศัตรูฟักทอง : ได้แก่ ด้วงเต่าแตง แมลงปากดูด และแมลงหวี่ขาว หากไม่มีการระบาดรุนแรงใช้สารเคมีที่สามารถควบคุมแมลงได้หลายชนิด เช่น เซฟวิน-85 ปริมาณ 20 -30 กรัม /น้ำ 20 ลิตร(ไม่ควรใช้อัตราสูงกว่านี้อาจจะทำให้ใบไหม้) ฉีดพ่นทุก 5 – 7 วัน ส่วนเพลี้ยไฟ เป็นแมลงขนาดเล็กมากระบาดในฤดูแล้ง ตัวอ่อนจะมีสีแสด ตัวแก่จะมีสีดำ ตัวเล็กขนาดเท่าปลายเข็ม มันจะดูดน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อนและใต้ใบอ่อน ทำให้ยอดหดสั้นปล้องถี่ยอดชูตั้งขึ้นหรือเรียกว่าโรคยอดตั้ง ถ้าปริมาณน้อยหากให้น้ำถั่วถึง หรือมีฝนตกมากเพลี้ยไฟมันจะหายไป หากระบาดฉีดป้องกันโดยใช้ยา ไฟท์ซ๊อต หรือ แบนโจฉีดพ่นทุก 5 – 7 วัน โดยควรฉีดพ่นก่อนการเก็บเกี่ยว 15 วัน การเข้าทำลายผลผลิตช่วงใกล้เก็บเกี่ยวของหนูนา โดยเกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงหากพบการระบาดควรหาวิธีป้องกันและแก้ไขทันที

การตัดแต่งและไว้ตำแหน่งผลของฟักทอง : การตัดแต่งจะทำหลังจากย้ายต้นกล้าฟักทองลงปลูกในแปลง 10 - 15 วัน เมื่อถึงระยะมีใบที่ 5 ให้เด็ดยอดทิ้งหลังจากนั้นภายใน 2 อาทิตย์ จะมีเถาแขนงแตกออกจากมุมใบ 3 – 4 เถา ให้ติดผลแขนงเถาที่ 5 ถึง 7 จำนวน 4 – 5 ผล ให้ติผลในข้อที่มากกว่า เมื่อผลมีขนาดเท่ากับลูกมะนาว ให้คัดเลือกผลที่สมบูรณ์เหลือเพียง 3 – 4 ผลต่อต้น หลังจากนั้นให้ทำการห่อผลเพื่อป้องกันแมลงวันทอง ปล่อยให้แขนงแตกโดยธรรมชาติและทำการปลิดผลออกในส่วนปลายเถาออกทิ้งเป็นระยะๆในการตัดแต่งควรจะทำในช่วงเวลาเช้าเพื่อให้บาดแผลแห้งภายในวันนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการเข้าทำลายโดยเชื้อแบคทีเรียที่เข้าสู่พืชทางบาดแผล และอาจพ่นสารเคมีป้องกันโรคพืชตามความเหมาะสม นอกจากนี้วันที่ตัดแต่งถ้าเป็นไปได้เป็นวันที่แสงแดดตลอดวันจะยิ่งดี
การเก็บเกี่ยวผลผลิตฟักทอง : หลังจากที่มีการย้ายต้นกล้าฟักทองลงปลูกในแปลงนาน 80 – 100 วันหรือหลังจากดอกบาน 40 – 60 วัน ผลฟักทองจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจัดและมีนวลสีขาวที่ผล เถาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม การผลิตฟักทองสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตแบบผลอ่อนหรือผลแก่ตามความต้องการของตลาด ทำการเก็บเกี่ยว 2 – 3 ครั้ง ช่วงระยะของการเก็บเกี่ยว 15 – 20 วัน ผลผลิตฟักทองเฉลี่ย 3 – 6 ตันต่อไร่

----------------------- ^ ^ ------------------------
ที่มา :
ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร.การผลิตฟักทองแบบปลอดภัย วารสารเส้นทางกสิกรรม ฉบับที่ 163 เดือนมีนาคม.2552.พิจิตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น