สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ โดยกลุ่มโรคสัตว์น้ำและสัตว์ป่า ตรวจพบโรคอุบัติใหม่ชนิด โรคอัมพาตจิ้งหรีด (Cricket paralysis) ในฟาร์มเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ความเป็นมา
     โรคอัมพาตจิ้งหรีดเกิดจากเชื้อ Cricket Paralysis Virus (CrPV) ค้นพบครั้งแรกในจิ้งหรีดสายพันธุ์ออสเตรเลียและมีรายงานตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ.1907) โรคนี้มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทั้งในฟาร์มเพาะเลี้ยงและการทดลองในห้องปฏิบัติการ ต่อมามีรายงานการพบเชื้อนี้แต่ต่างสายพันธุ์ในประเทศนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อังกฤษ อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา เชื้อนี้ไม่ติดต่อสู่คนและสัตว์อื่น
ลักษณะของเชื้อ
     เป็นเชื้อไวรัสชนิด RNA รูปร่างทรงกลม สายเดี่ยว วนขวา ชนิด non-occluded ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 27 nM ตัวไวรัสประกอบด้วยแคปสิดโปรตีน 4 ชนิด VP1, VP2, VP3 และ VP4 มีลักษณะคล้ายกับ Picornaviruses ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม

 
การติดต่อและอาการ
     ไวรัสตัวนี้ติดต่อโดยการกินผ่านระบบทางเดินอาหาร ซึ่งสามารถพบตัวไวรัสได้ที่ตำแหน่งของชั้นผิวหนัง ทางเดินอาหาร และปมประสาท ตัวอ่อนที่ได้รับเชื้อจะตายภายใน 3 วันโดยไม่แสดงอาการ จิ้งหรีดวัยเจริญพันธุ์จะแสดงอาการ เงื่องหงอยหลังจากได้รับเชื้อ 8 วัน และหยุดกิน หนวด ริมฝีปาก กราม และหัวกระตุกเป็นพักๆ จากนั้นขาหลังเริ่มเป็นอัมพาต หงายท้อง ชัก และตายหลังจากนั้น 5 วัน

การแพร่ระบาด
     ในปี พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002) แพร่ระบาดในฟาร์เพาะเลี้ยงจิ้งหรีดในประเทศแถบยุโรป และแพร่ระบาดไปในอเมริกาและแคนาดา ในปี พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) แพร่ระบาดในฟาร์มจิ้งหรีดแถบอเมริกาเหนือทำให้จิ้งหรีดตายประมาณ 60 ล้านตัว สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมากจนถึงขั้นต้องปิด ฟาร์ม และมีการศึกษาค้นคว้าเพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ที่ทนต่อโรคอัมพาตจิ้งหรีด และเริ่มขออนุญาตเพาะเลี้ยงใหม่ในปี พ.ศ. 2555 (ค.ศ. 2012)


การจัดการเมื่อมีจิ้งหรีดป่วยตาย
     1. เมื่อพบจิ้งหรีดป่วย ตาย ให้ทำลายโดยขุดหลุมฝังลึกไม่น้อยกว่า 20 เซนติเมตร (เพื่อป้องกันสัตว์อื่นมาคุ้ย) แล้วราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หรือปูนขาว
     2. ทำความสะอาด และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคกับอุปกรณ์การเลี้ยง เช่น ที่อยู่ของจิ้งหรีด อุปกรณ์การให้อาหาร ให้น้ำ ที่วางไข่ มุ้งเขียว ผนัง พื้นทางเดิน และบริเวณรอบโรงเรือน โรงเก็บอาหาร
     3. ควรพักโรงเรือนอย่างน้อย 1-2 เดือน

การป้องกันการเกิดโรค
     1. มีการควบคุมอุณหภูมิ และความชื้นในการเพาะเลี้ยงให้เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว
     2. การจัดการสุขาภิบาล การทำรั้วรอบฟาร์ม
     3. ควบคุมการเข้าออกของบุคคลและยานพาหนะต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคก่อน
     4. ป้องกันและกำจัดสัตว์ที่เป็นพาหะของโรค เช่น นก หนู แมลงสาบ แมลงวัน มด จิ้งหรีดจากธรรมชาติ หรือสัตว์ที่เข้ามาจับจิ้งหรีดกินเป็นอาหาร
     5. แยกเลี้ยงตามช่วงอายุ แยกพื้นที่การเลี้ยงให้เป็นสัดส่วน หรือใช้ระบบเข้า-ออกพร้อมกัน (all in all out)
     6. ควรมีการเปลี่ยนพ่อแม่พันธุ์ เพื่อป้องกันการเกิดสายเลือดชิด
     7. ควรมีการส่งตัวอย่างจิ้งหรีดตรวจเป็นระยะๆ หรือตรวจตัวอย่างไข่จิ้งหรีดก่อนนำเข้ามาเลี้ยงใหม่ เป็นต้น

ข้อควรระวัง
     อย่าหลงเชื่อผู้ที่ไม่ใช่สัตวแพทย์ที่แนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะในการป้องกันหรือรักษาโรค นอกจากยาปฏิชีวนะรักษาโรคนี้ไม่ได้ผลดีแล้วยังเป็นการเพิ่มต้นทุน ทำให้เกิดมียาตกค้าง และเชื้อในธรรมชาติเกิดการดื้อยา ส่งผลเสียต่อผู้บริโภคและ สิ่งแวดล้อมตามมา
ข้อทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-25798908 ถึง 14 ต่อ 406 ในวัน-เวลาราชการ

ที่มาจาก สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ

ซุปเปอร์จิ้งหรีด โดย สมใจนึกจิ้งหรีดฟาร์ม
ขายไข่จิ้งหรีดพันธ์ดีมีคุณภาพและจิ้งหรีดตัวใหญ่  เน้นความสะอาดและปลอดภัย
สนใจสอบถามรายละเอียด โทร 086-355-2228   Line ID :  blueblackip