fb


   


วันพุธที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2557

งานวิจัย การเลี้ยงจิ้งหรีด

นักวิจัยสกลนครเลี้ยงจิ้งหรีดปลอดสารพิษ หวังผลิตไส้อั่ว-น้ำพริกจิ้งหรีด
นางสาวอโนทัย วิงสระน้อย นายณรงค์ ผลวงษ์ และนางสาวพรประภาผู้ร่วมกันพัฒนาจิ้งหรีดมาเป็นอาหาร
       อาจารย์สกลนครนำวิทยาศาสตร์การอาหารและการเกษตรยกระดับคุณภาพชีวิตคนอีสาน ด้วยโครงการพัฒนาจิ้งหรีดเป็นอาหารอย่างครบวงจร ก้าวแรกของโครงการต้องทำให้ผู้บริโภคจิ้งหรีดมั่นใจว่าจะไม่มีสารพิษตกค้าง และจะเดินหน้าด้วยการแปรรูปจิ้งหรีดเป็นอาหารที่หลากหลาย เช่น ไส้อั่ว และน้ำพริกจิ้งหรีด หวังสร้างตลาดให้กว้างขึ้น
       

       หลายท่านคงไม่ทราบว่า “จิ้งหรีด” เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกับอาหารที่ให้โปรตีนอย่างไข่ไก่หรือนมถั่วเหลือง และชาวอีสานได้บริโภคแมลงชนิดนี้มานานแล้ว จนกระทั่งมีการผลิตและแปรรูปในเชิงอุตสาหกรรมเพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภค ทางสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรสกลนคร สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล จึงได้ทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากจิ้งหรีดในรูปแบบที่ครบวงจรขึ้นมาหลายโครงการ หนึ่งในนั้นคือโครงการเพื่อสร้างความมั่นใจเรื่องอาหารปลอดภัยแก่ผู้บริโภค
    
       ที่ผ่านมาผู้บริโภคได้เกิดความไม่มั่นใจในความปลอดภัยของอาหารจากแมลงชนิดนี้ว่า อาจจะมีสารตกค้างเนื่องจากอาหารที่เกษตรกรให้กับจิ้งหรีด เช่น หญ้าอาจมียาฆ่าแมลงปนเปื้อนหรืออาหารสัตว์ซึ่งทำให้จิ้งหรีดโตเร็วแต่อาจมียาปฏิชีวนะตกค้าง วิธีแก้ปัญหาของเกษตรกรคือจะงดอาหารเหล่านี้หลังจากที่จิ้งหรีดโตพอแล้ว ก่อนนำไปจำหน่ายหรือแปรรูป โดยคาดว่าเศษอาหารและสารตกค้างออกจากทางเดินอาหารของจิ้งหรีดไปบ้าง
      
นักวิจัยสกลนครเลี้ยงจิ้งหรีดปลอดสารพิษ หวังผลิตไส้อั่ว-น้ำพริกจิ้งหรีด
การเลี้ยงจิ้งหรีดที่ให้อาหารไก่เล็กและหญ้า
       ทางสถาบันจึงได้นำแนวคิดดังกล่าวมาพัฒนาต่อเพื่อหาระยะเวลาที่เหมาะสมในการงดอาหารที่คาดว่าจะมีสารตกค้างโดยมี นางสาวอโนทัย วิงสระน้อยและนางสาวพรประภา วงศ์ฝั้น คณะวิจัยของสถาบันเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ“การผลิตจิ้งหรีดสำหรับเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร” เพื่อหาระยะเวลาที่เหมาะสมในการขจัดเศษอาหารจากระบบทางเดินอาหารและสารตกค้างในจิ้งหรีดก่อนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นโครงการย่อยของโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากจิ้งหรีดครบวงจร
    
       “ขั้นตอนคือนำลูกจิ้งหรีดที่เราเพาะเองมาเลี้ยงไว้ในกล่อง ช่วงเดือนแรกให้หญ้าสดและอาหารไก่เล็ก (อาหารสำหรับลูกไก่) ก่อนจะเปลี่ยนมาให้อาหารไก่เล็กคลุกสีผสมอาการเพื่อให้ง่ายต่อการสังเกตลำไส้ของจิ้งหรีด พอครบ 2 เดือนเราก็“ปิดการขุน” คืองดให้อาหารไก่และให้เฉพาะหญ้าสด หลังจากนั้นชั่งน้ำหนักจิ้งหรีดในช่วงเวลา 0-72 ชม.หลังงดอาหารไก่ และผ่าท้องดูปริมาณอาหารตกค้างในแต่ละช่วง”นางสาวอโนทัยเล่าขั้นตอนการทดลอง
นักวิจัยสกลนครเลี้ยงจิ้งหรีดปลอดสารพิษ หวังผลิตไส้อั่ว-น้ำพริกจิ้งหรีด
จิ้งหรีดนับพันที่ถูกเลี้ยงในกล่องพลาสติก
       “หลังจากงดให้อาหารแล้วผ่าดูความยาวของลำไส้จากนั้นก็นำลำไส้ของจิ้งหรีดในช่วงเวลาต่างๆ หลังงดอาหารมาเปรียบเทียบกัน ผลคือเราพบว่าการงดให้อาหารไก่ 24 ชม. เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด เพราะเหลืออาหารตกค้างน้อยและน้ำหนักตัวไม่ลด คือถ้าปล่อยไว้นานกว่านี้เศษอาหารในลำไส้เหลืออยู่น้อยก็จริง แต่น้ำหนักตัวจิ้งหรีดจะลดลงฮวบฮาบ เกษตรกรก็ขายไม่ได้ราคา” นางสาวอโนทัยเล่าต่อ
    
       นางสาวอโนทัยได้ย้ำว่าโครงการข้างต้นยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์เนื่องจากอยู่ในขั้นต้นของการวิจัยเท่านั้น ยังไม่สามารถให้คำตอบหรือสรุปได้ชัดเจน และต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไปอีก และการทดลองดังกล่าวเป็นเพียงการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคอย่างคร่าวๆ ซึ่งยังต้องวิเคราะห์สารตกค้างกันด้วยวิธีที่น่าเชื่อถือกว่านี้ เบื้องต้นได้ส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
    
       ทางด้านนางสาวพรประภา นักวิจัยอีกท่านกล่าวว่านอกจากวิธี “ปิดการขุน” ที่ใช้อยู่นี้ ทางกลุ่มวิจัยก็กำลังหาวิธีเลี้ยงใหม่ๆ ที่เพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น เช่น อาจจะผลิตอาหารไก่เองเพื่อให้แน่ใจว่าปลอดสารพิษ หรืออาจจะใช้สมุนไพรเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อให้สมุนไพรที่ตกค้างในทางเดินอาหารนั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และคุณพรประภายังรับผิดชอบในโครงการแปรรูปจิ้งหรีดเป็นอาหารเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น